Mein Kampf

ไมน์คัมพฟ์

​​     ​​​ไมน์คัมพฟ์ เป็นหนังสือที่อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* ผู้นำพรรคสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือนาซี (National Socialist German Workers’ Party NSDAP; Nazi)* เขียนขึ้นในช่วงที่ถูกจองจำที่คุกลันด์สแบร์กอัมเลช (Landsberg am Lech) เป็นหนังสือที่ได้ชื่อว่าเป็นคัมภีร์ของแนวความคิดลัทธินาซี (Nazism) ในเยอรมนี และเป็นคู่มือนโยบายทางการเมืองซึ่งฮิตเลอร์มุ่งหวังที่จะดำเนินการในอนาคต ชื่อดั้งเดิมของหนังสือคือ Four and a Half Years of Struggle against Lies, Stupidity and Cowardice แต่ผู้จัดพิมพ์เห็นว่ายาวเกินไปจึงเปลี่ยนชื่อใหม่ให้กระชับและน่าอ่านขึ้นเป็น "ไมน์คัมพฟ์" หรือ "My Struggle" ในภาษาอังกฤษ ไมน์คัมพฟ์เป็นหนังสือชุด ๒ เล่มจบ เล่มแรกพิมพ์เผยแพร่ใน ค.ศ. ๑๙๒๕ และเล่มหลังใน ค.ศ. ๑๙๒๘ แต่ใน ค.ศ. ๑๙๒๙ นำมารวมพิมพ์เป็นเล่มเดียวกัน ใน ค.ศ. ๑๙๓๙ ก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* หนังสือจำหน่ายได้ถึง ๕.๒ ล้านเล่ม และฉบับย่อของหนังสือถูกถ่ายทอดเป็นภาษายุโรปต่าง ๆ ๑๖ ภาษา ทั้งต่อมายังเป็นหนังสือที่หนุ่มสาวชาวเยอรมันที่จะเข้าพิธีสมรสต้องมีไว้เป็นสมบัติของครอบครัวอย่างน้อย ๑ เล่ม รายได้จากการจำหน่ายทำให้ฮิตเลอร์มีฐานะมั่งคั่ง
     ไมน์คัมพฟ์เป็นผลสืบเนื่องจากเหตุการณ์ทางการเมืองใน ค.ศ. ๑๙๒๓ เมื่อฮิตเลอร์และนายพลเอริช ฟอน ลูเดนดอร์ฟฟ์ (Eric von Ludendorff)* ร่วมกันวางแผนก่อกบฏเพื่อโค่นอำนาจรัฐบาลของสาธารณรัฐไวมาร์ (Weimar Republic)* แต่ปัญหาการวางแผนที่ไม่รัดกุมและการประสานงานที่ไม่ดีพอทำให้การก่อกบฏซึ่งรู้จักกันดี ในชื่อกบฏโรงเบียร์ (Beer Hall Putsch)* หรือ กบฏที่เมืองมิวนิก (Munich Putsch)* ประสบความล้มเหลว ฮิตเลอร์ถูกตัดสินจำคุก ๕ ปีที่คุกลันด์สแบร์กอัมเลช ซึ่งเดิมเป็นปราสาทเก่าและตั้งอยู่ทางตะวันตกของเมืองมิวนิก เขาได้รับสิทธิพิเศษในฐานะนักโทษการเมืองคนสำคัญโดยถูกขังในห้องคุกที่กว้างขวางมีหน้าต่างติดกับสวนทั้งมีเฟอร์นิเจอร์พร้อม และได้รับอนุญาตให้ใช้ชีวิตอย่างอิสระในบริเวณคุกตอนกลางวันแต่ต้องกลับเข้ามานอนในห้องขังเวลากลางคืน นอกจากนี้ ฮิตเลอร์ยังสามารถแต่งเครื่องแบบพรรคนาซีและใช้เสื้อผ้าของตนเองได้และเก็บของขวัญที่ผู้เยี่ยมเยือนมอบให้รวมทั้งต้อนรับแขกที่มาเยี่ยมได้โดยไม่มีการจำกัดเวลา ห้องขังของเขาจึงมักมีเพื่อนฝูง สมาชิกพรรค นักหนังสือพิมพ์มาเยี่ยมเยือนไม่ขาดระยะ และมักใช้เวลาพูดคุยกันยาวนาน และบางครั้งฮิตเลอร์ก็จัดประชุมพรรคและงานสังสรรค์ขึ้นด้วย หากไม่มีแขกมาเยี่ยมฮิตเลอร์ใช้เวลาส่วนใหญ่อ่านหนังสือในห้องสมุดเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และปรัชญาการเมือง หนังสือที่มีอิทธิพลต่อความคิดของเขามากคือหนังสืออัตชีวประวัติของเฮนรี ฟอร์ด (Henry Ford) นักอุตสาหกรรมรถยนต์ชาวอเมริกันเรื่อง My Life and Work และ The International Jew หนังสือเล่มหลังฟอร์ดอ้างว่าพวกยิวคบคิดวางแผนที่จะยึดครองโลกและแสดงความคิดเห็นต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์และสหภาพแรงงาน ฮิตเลอร์เห็นด้วยกับฟอร์ดอย่างมากและนำความคิดดังกล่าวมาขยายต่อในหนังสือของเขาในเวลาต่อมา เขาชื่นชอบฟอร์ดจนถึงกับมีภาพถ่ายของฟอร์ดที่ห้องทำงานด้วย
     แม้ฮิตเลอร์จะมีชีวิตอิสระและสุขสบายในคุกแต่เขาก็หงุดหงิดและขุ่นเคืองกับสภาพแวดล้อม มักซ์ อัมนัน (Max Amnan) ผู้จัดการด้านธุรกิจของเขาจึงแนะให้เขาเขียนอัตชีวประวัติเพื่อระบายอารมณ์และความเครียด ฮิตเลอร์ไม่เห็นด้วยกับความคิดดังกล่าว เพราะเขาขาดทักษะด้านการขีดเขียน แต่ก็เปลี่ยนความคิดในที่สุด เมื่อมีการเสนอให้เขาบอกเล่าเรื่องราวที่ต้องการสื่อโดยให้มีคนจดบันทึกและเรียบเรียงขึ้น พัสดีคุกยอมอนุญาตให้ เอมิล เมาริช (Emile Maurice) คนขับรถของฮิตเลอร์มาทำหน้าที่บันทึกและพักอยู่กับฮิตเลอร์ในคุก แต่เมาริชเก่งด้านการใช้กำลังและไม่ใช่นักเขียนที่มีฝีมือ รูดอลฟ์ เฮสส์ (Rudolf Hess)* ปัญญาชนจากมหาวิทยาลัยมิวนิกซึ่งชื่นชมและภักดีต่อฮิตเลอร์อย่าง มากและถูกคุมขังที่คุกเดียวกันกับฮิตเลอร์ จึงอาสาสมัครทำงานดังกล่าวและยังทำหน้าที่ เป็นเลขานุการส่วนตัวของฮิตเลอร์ด้วย แม้เฮสส์จะเรียบเรียงและขัดเกลาเรื่องที่บันทึกให้สละสลวย แต่เนื้อหาของหนังสือก็เข้าใจยากเพราะฮิตเลอร์มักย้ำความคิดกลับไปกลับมา และขาดความต่อเนื่อง หลายตอนสับสนและคลุมเครือทั้งสื่อความคิดไม่ชัดเจน ภาษาที่ ใช้ค่อนข้างห้วนและโผงผางซึ่งทำให้น่าเบื่อและอ่านยาก
     ไมน์คัมพฟ์เล่มแรกซึ่งเขียนขึ้นระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๓-๑๙๒๔ พิมพ์เผยแพร่ที่เมืองมิวนิกเมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๒๕ โดยสำนักพิมพ์ ฟรันซ์ เอแฮร์ (Franz Eher) ใช้ชื่อหนังสือว่า Eine Abrechnung (A Reckoning) เพื่ออุทิศให้แก่สมาชิกพรรคนาซีที่เสียชีวิตรวม ๑๓ คนในเหตุการณ์กบฏโรงเบียร์ เนื้อหาของหนังสือว่าด้วยชีวิตวัยเยาว์ของฮิตเลอร์และพัฒนาการทาง ความคิดของเขาที่ มีต่อการเมืองและแผ่นดินบ้านเกิดความเป็นมาของพรรคนาซี และแนวทางการเคลื่อนไหวทางการเมืองของพรรค หนังสือมียอดจำหน่ายครั้งแรก ประมาณ ๙,๔๐๐ เล่ม ส่วนเล่มที่ ๒ เขียนเสร็จใน ค.ศ. ๑๙๒๖ หลังจากที่ฮิตเลอร์ถูกปล่อยตัวใน ค.ศ. ๑๙๒๔ และกลับไปใช้ชีวิตอย่างสงบที่ เมืองแบร์ชเทสกาเดิน (Berchtesgaden) เพื่อคอยเวลาพ้นกำหนดการลงโทษเนื่องจากเขาถูกห้ามไม่ให้ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในที่สาธารณะจนถึง ค.ศ. ๑๙๒๘ หนังสือเล่ม ๒ ซึ่งจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์เดียวกันใช้ชื่อว่า Nationalsozialistische Bewegung มีเนื้อหาว่าด้วยแนวความคิดทางการเมืองของพรรคนาซีและวัตถุประสงค์ตลอดจนแนวทางการสร้างชาติอารยันที่ยิ่งใหญ่ ชาวเยอรมันไม่ได้ให้ความสนใจหนังสือไมน์คัมพฟ์ทั้ง ๒ เล่มมากนักเพราะเห็นว่ามีเนื้อหาสับสนและยากแก่การเข้าใจ
     ใน ค.ศ. ๑๙๒๙ มีการนำไมน์คัมพฟ์มารวมพิมพ์เป็นเล่มเดียวกันและพิมพ์เผยแพร่ขนาดคัมภีร์ไบเบิลฉบับประชาชน จำหน่ายเล่มละ ๘ มาร์ค เพื่อให้แพร่หลายในวงกว้างซึ่งประสบความสำเร็จพอควร เพราะขายได้กว่า ๕๐,๐๐๐ เล่มใน ค.ศ. ๑๙๓๐ และ ๙๐,๐๐๐ เล่มใน ค.ศ. ๑๙๓๒ เมื่อฮิตเลอร์ก้าวสู่อำนาจทางการเมืองในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๓๓ เขาสั่งให้พิมพ์ไมน์คัมพฟ์ ๑,๐๐๐,๐๐๐ เล่มเพื่อกอบกู้ชื่อเสียงของพรรค และในเวลาอันสั้นไมน์คัมพฟ์ก็เป็นหนังสือขายดีที่มียอดจำหน่ายเกือบเท่าหนังสือคัมภีร์ไบเบิล ก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒

หนังสือจำหน่ายได้ถึง ๕.๒ ล้าน เล่มสมาชิกพรรคและข้าราชการทุกคนต้องมีหนังสือคน ละ ๑ เล่ม และชาวเยอรมันถูกโน้มน้าวให้ใช้ไมน์คัมพฟ์เป็นของขวัญวันเกิดและในโอกาสต่าง ๆ ไมน์คัมพฟ์จึง เป็นคัมภีร์ของพรรคนาซี และเป็นพิมพ์เขียวของการสร้างจักรวรรดิไรค์ที่ ๓ (Third Reich)* ใน ค.ศ. ๑๙๔๒ ฮิตเลอร์อธิบายความเป็นมาของหนังสือไมน์คัมพฟ์แก่เหล่านายทหารว่าหากเขาไม่เข้าคุกก็คงจะไม่มีหนังสือเล่มนี้ และสาระของหนังสือมาจากประสบการณ์ชีวิตที่สรุปแนวความคิดหลักทางการเมืองทั้งหมดของเขา ใน ค.ศ. ๑๙๔๕ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เยอรมนีกำลังปราชัยในสงคราม ไมน์คัมพฟ์มียอดจำหน่ายทั้งในสหรัฐอเมริกาและยุโรปสูงถึง ๑๐ ล้านเล่ม
     ฮิตเลอร์ได้รับอิทธิพลทางความคิดเกี่ยวกับความไม่เสมอภาคของคนเชื้อชาติต่าง ๆ และความบริสุทธิ์และยิ่งใหญ่ของคนเชื้อสายเยอรมันซึ่งเป็นเผ่าอารยัน ตลอดจนการรวมคนเชื้อสายเยอรมัน (Pan- Germanism) มาจากนักคิดและปัญญาชนคนสำคัญที่เป็นชาวเยอรมันและชาวต่างชาติ เขาประมวลความคิดของโชแซฟ กงต์เดอโกบีโน (Joseph Comte de Gobineau) นักทฤษฎีด้านเชื้อชาติชาวฝรั่งเศสที่กล่าวถึงความบริสุทธิ์ของเชื้อชาติ และเห็นว่าชนชาติผิวขาวเหนือกว่าชนชาติอื่น ๆ ทุกด้าน ไฮน์ริช ไทรท์ชเคอ (Heinrich Treitschke) ศาสตราจารย์สาขาประวัติศาสตร์ที่เชิดชูความยิ่งใหญ่ของรัฐชาติและความจำเป็นของการก่อสงครามเพื่อขยายดินแดนและเชิดชูความเหนือกว่าของรัฐ ริชาร์ด วากเนอร์ (Richard Wagner) วาทยกรชาวเยอรมันที่กล่าวถึงตำนานและวีรกรรมของชาวเยอรมันในการสร้างวัฒนธรรมชาติ และคาร์ล ลือเกอร์ (Karl Lueger) ผู้นำพรรคสังคมคริสเตียนที่ เสนอความคิดต่อต้านยิวและยกย่องคนเชื้อสายเยอรมันที่เป็นคริสเตียน ตลอดจนคาร์ล เฮาส์โฮเฟอร์ (Karl Haushofer) ศาสตราจารย์สาขาภูมิรัฐศาสตร์ที่ เสนอความคิดเกี่ยวกับการขยายดินแดนไปทางตะวันออก และชาลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin)* ผู้เสนอแนวคิดว่าด้วยการคัดเลือกสายพันธุ์ที่ดีและเหมาะสม เป็นต้น ดังนั้น แนวความคิดหลักของไมน์คัมพฟ์ที่ฮิตเลอร์เน้นครั้งแล้วครั้งเล่าคือเรื่องเชื้อชาติ ความบริสุทธิ์ของเชื้อชาติ และความเหนือกว่าของเชื้อชาติ
     ฮิตเลอร์แบ่งมนุษยชาติออกเป็น ๓ ประเภท ประเภทแรกคือผู้สร้างวัฒนธรรม (Kulturbegründer) ได้แก่ เชื้อชาติอารยันหรือนอร์ดิก กับพวกอเมริกันเหนือชนชาติอารยันมีลักษณะโดดเด่น คือ ผิวสีอ่อน ผมสีทอง และนัยน์ตาสีฟ้า และเป็นชนชาติปกครอง (master race) ประเภทที่ ๒ คือผู้ที่สืบทอดวัฒนธรรม (Kulturträger) คือ ญี่ปุ่น และเชื้อชาติตะวันออกอื่น ๆ ที่รับอารยธรรมของพวกอารยัน ประเภทสุดท้ายคือผู้ทำลายวัฒนธรรม (Kulturzerstorer) คือพวกยิวและนิโกร ฮิตเลอร์เห็นว่าชนชาติอารยันหรือเยอรมันซึ่งเป็นเผ่าพันธุ์ที่แข็งแกร่งที่สุดในโลกต้องทำหน้าที่ปกครองชนชาติอื่น ๆ ที่ด้อยกว่าเป็นหน้าที่และสิทธิอันชอบธรรมของพวกอารยันที่จะปกครอง กดขี่ข่มเหง และกำจัดเชื้อชาติอื่น ๆ เพื่อประโยชน์ของเผ่าพันธุ์ตน เยอรมนีซึ่งมีพื้นที่แออัดจึงต้องการการขยายดินแดนไปทางตะวันออก (Lebennsraum-Living space) และเป็นสิทธิและหน้าที่ในการแย่งชิงดินแดนของชนชาติสลาฟ กวาดล้างและขับไล่พวกสลาฟโปล และเช็กออกไปเพื่อให้ชาวเยอรมันเข้าไปตั้งรกรากแทน สงครามคือการแสดงออกในพลังและอำนาจของ ชาติอารยันเพื่อปกป้องชาติพันธุ์ที่บริสุทธิ์ การขยายดินแดนและเพิ่มจำนวนประชากรเพื่อให้บรรลุถึงจุดมุ่งหมายของการต่อสู้เพื่อดำรงอยู่และเพื่อปกครองโลก
     ฮิตเลอร์ยังเสนอแนะเป็นนัยว่าเยอรมนีจะเป็นชาติยิ่งใหญ่ได้หากได้ครอบครองพื้นที่ อันกว้างใหญ่ของยุโรปซึ่งหมายถึงดินแดนของรัสเซีย การจะครอบครองรัสเซียได้จำเป็นต้องสร้างพันธมิตรกับญี่ปุ่นเพื่อให้รัสเซียต้องเผชิญศึกสองด้าน และเปิดโอกาสให้เยอรมนีสามารถขยายอำนาจเข้ายึดครองดินแดนส่วนยุโรปของรัสเซียได้ง่าย โดยญี่ปุ่นก็สามารถครอบครองดินแดนชายฝั่งทะเล มองโกเลีย และพื้นที่ส่วนใหญ่ของไซบีเรียไมน์คัมพฟ์จึงให้กรอบความคิดของแนวทางการสร้างพันธมิตรที่จะเอื้อประโยชน์ต่อเยอรมนี และความจำเป็นของการสร้างความแข็งแกร่งทางทหารของเยอรมนีในแนวรบด้านตะวันตก นอกจากนี้ ฮิตเลอร์เน้นว่าชนชาติเยอรมันทั้งหมดต้องรวมกันเป็นหนึ่งเดียวในจักรวรรดิไรค์ซึ่งหมายถึงการดำเนินนโยบายการผนวกออสเตรียเข้ากับเยอรมนี (Anschluss)* ด้วย ขณะเดียวกันเยอรมนีต้องสร้างพันธมิตรกับอังกฤษและอิตาลีเพื่อกำจัดฝรั่งเศส เนื่องจากฝรั่งเศสเป็นศัตรูของเยอรมนีและเป็นแหล่งพักพิงของพวกยิวต่างชาติ
     ฮิตเลอร์เชื่ออย่างฝังใจว่าพวกยิวมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาไม่ชอบและเกลียดชังซึ่งรวมทั้งเรื่องศิลปะร่วมสมัย สิ่งลามกอนาจาร และ โสเภณี เป็นต้น ยิวเป็นพวกสันหลังยาวและไร้ค่าทั้งไม่มีวัฒนธรรม ส่วนหนุ่มยิวผมดำที่มีดวงตาฉายประกายของปีศาจร้ายก็มักจะคอยซุ่มเฝ้าผู้หญิงอารยันที่ไร้เดียงสาเพื่อหาจังหวะและโอกาสที่จะผสมเชื้อร้ายเข้าไปในสายเลือดเพื่อทำให้เป็นสายพันธุ์ที่ต่ำต้อย โดยมีจุดมุ่งหมายทำลายอารยธรรมและการเมืองของชาวอารยันให้ต่ำลงเพื่อสืบสายพันธุ์ตนเข้าแทนที่ ยิวจึงเป็นกาฝากที่เกาะติดร่างของผู้อื่นและพยายามสร้างอาณาจักรในรูปของชุมชนทางศาสนาขึ้นในรัฐที่ตนอาศัยอยู่ เพราะการป้องกันตัวของพวกยิวคือการติดต่อสร้างความสัมพันธ์กับผู้ที่ฉลาดกว่าเพื่อฉกฉวยวัฒนธรรมของผู้อื่นมาเป็นของตนเอง นอกจากนี้ ยิวยังนำพวกนิโกรหรือผิวสีมายังลุ่มแม่น้ำไรน์เพื่อมุ่งทำลายชาวเยอรมันด้วย
     ในไมน์คัมพฟ์ ฮิตเลอร์ยังกล่าวหายิวว่ามีส่วนทำให้เยอรมนีพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ ๑ เขาอ้างว่าพลเมืองยิวร้อยละ ๑ กำลังเข้ายึดครองเยอรมนีอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเข้าควบคุมธุรกิจอุตสาหกรรมชั้นนำและหนังสือพิมพ์รายวันหลายฉบับทั้งคุมเสียงข้าง มากในพรรคการเมืองใหญ่ ๆ เช่น พรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันหรือเอสพีดี (German Social Democratic Party - SPD)* การควบคุมทางสังคมและมีบทบาททางการเมืองของยิวดังกล่าวคือความหายนะของเยอรมนี เพราะประเทศกำลังถูกปกครองด้วยคนโง่ฮิตเลอร์เห็นว่ายิว ๑๐๐ คนยังไม่อาจเปรียบเทียบกับความเฉลียวฉลาดของคนเยอรมัน ๑ คนได้
     ฮิตเลอร์เห็นว่ายิวคบคิดกับพวกคอมมิวนิสต์เพื่อยึดครองโลกและทำให้ชาวอารยันต้องกลายเป็นทาส เขายอมรับทัศนะของฟอร์ดที่ว่าร้อยละ ๗๕ ของพวกคอมมิวนิสต์เป็นยิว และอ้างหนังสือ The Protocols of the (Learned) Elders of Zion๑ ที่ว่ายิวมีแผนยึดครองและควบคุมโลกด้วยการเงิน ฮิตเลอร์กล่าวว่ายิวกับพวกคอมมิวนิสต์ที่เชื่อในลัทธิมากซ์ (Marxism)* ต่างร่วมมือกันจนมีชัยชนะในรัสเซียและกำลังขยายอำนาจคุกคามดินแดนส่วนที่เหลือของยุโรป การก่อการปฏิวัติของคอมมิวนิสต์คือแผนปฏิบัติการล้างแค้นของยิวที่พยายามปกปิดความต่ำต้อยของตน และชัยชนะของพวกยิวคือจุดจบของมนุษยชาติ ผู้คนที่มีเชื้อชาติบริสุทธิ์ต้องไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจของยิว ดังนั้น จิตวิญญาณของเยอรมันจะ "เกิดขึ้นใหม่" ได้หากพลเมืองเยอรมันสามารถรักษาสายเลือดบริสุทธิ์ไว้ เยอรมนีจึงต้องสร้าง "รัฐทิวทอนิกของชาติเยอรมัน" (Teutonic State of the German Nation) ขึ้นด้วยการกวาดล้างทั้งยิวและคอมมิวนิสต์ให้สิ้นซากและชัยชนะในการกำจัดพวกอมนุษย์แต่ละครั้งจะนำไปสู่ชัยชนะในบั้นปลายซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกจะงดงามและดีขึ้น
     ไมน์คัมพฟ์ยังเสนอความคิดว่าด้วยรูปแบบประชาธิปไตยของเยอรมนีโดยประชาชนเลือกผู้นำอย่างอิสระ และการปกครองต้องเป็นไปตามลำดับชั้นเช่นสายบังคับบัญชาในกองทัพและมีผู้นำเพียงคนเดียวที่ตัดสินสั่งการสำหรับคนทั้งหมด สิทธิและหน้าที่ของปัจเจกชนต้องขึ้นต่อความคิดเห็นส่วนรวม รัฐเป็นเครื่องมือแห่งอำนาจที่จะนำมาซึ่งคุณภาพชีวิตซึ่งหมายถึงการมีระเบียบวินัย มีความเสียสละ และมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันหน้าที่และความรับผิดชอบของรัฐมี ๗ ข้อคือ ต้องให้ "เชื้อชาติ" เป็นหลักนโยบายสำคัญ ต้องสร้างเชื้อชาติที่บริสุทธิ์ ต้องคุมกำเนิดพลเมืองที่อ่อนแอและที่เป็นโรคพันธุกรรม ต้องส่งเสริมการกีฬาในหมู่เยาวชนเพื่อให้มีความแข็งแกร่งเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับชาติพันธุ์ใหม่ต้องให้กองทัพเป็นสถาบันการศึกษาที่สำคัญที่สุด ต้องเน้นการศึกษาอบรมเรื่อง "ความรู้ด้านเชื้อชาติ" ในโรงเรียน และต้องปลูกฝังความรักชาติและความภาคภูมิใจในชาติในหมู่ประชาชน รัฐเป็นเพียงวิธีการและเครื่องมือที่จะนำไปสู่จุดมุ่งหมายของการเป็นรัฐชาติอารยันที่บริสุทธิ์
     ในการสร้างรัฐที่บริสุทธิ์ให้สำเร็จนั้นต้องอาศัยผู้นำที่มีความสามารถ อุทิศตน และมีความรับผิดชอบสูงไมน์คัมพฟ์ได้เน้นบทบาทและหน้าที่ของผู้นำที่มีจิตสำนึกต่อประชาชนและเป็นผู้นำที่ได้รับการ"เลือกสรร" จากพระเป็นเจ้าให้มีบารมีเหนือคนอื่น ๆ ผู้นำจึงต้อง มีอำนาจสูงสุดและมีหน้าที่รับผิดชอบต่อประชาชนทั้งเจตนารมณ์ของผู้นำซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของคนทั้งชาติสามารถแสดงออกได้ด้วยการลงประชามติประชาชนคือที่ มาแห่งอำนาจของผู้นำหรือฟือเรอร์ (Führer)* และผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาของผู้นำจำนวนหนึ่งที่ทำหน้าที่บริหารควบคุมกลไกสำคัญของรัฐคือตัวเชื่อมระหว่างฟือเรอร์กับประชาชน ฮิตเลอร์กล่าวว่าการจะได้มาซึ่งผู้นำที่ยิ่งใหญ่ในการเลือกตั้งทั่วไปนั้นยากยิ่งกว่าการงมเข็มในมหาสมุทรเสียอีก ดังนั้น หลักการเป็นผู้นำ (Fuhrerprinzip - leadership principle) จึงต้องเน้นย้ำให้ประชาชนตระหนักและซึมซับอยู่ตลอดเวลาจนเชื่อมั่นโดยไม่มีข้อแม้ว่าผู้นำคือผู้มีอำนาจสูงสุดเฉกเช่นพระเป็นเจ้า
     ไมน์คัมพฟ์ยังเสนอแนะความคิดว่าวิธีการที่ได้ผลที่สุดในการกำจัดเชื้อชาติด้อยคือการใช้แก๊สพิษสังหาร แนวความคิดดังกล่าวได้นำไปสู่การสร้างห้องรมแก๊สในค่ายกักกัน (Concentration Camp)* ในเวลาต่อมา และเป็นที่มาของนโยบายการแก้ปัญหาชาวยิวครั้งสุดท้าย (Final Solution)* ใน ค.ศ. ๑๙๔๑ ด้วยนอกจากนี้ แนวความคิดการสร้างความบริสุทธิ์ของเชื้อชาติในหนังสือจึงไม่เพียงทำให้ขบวนการต่อต้านชาวยิว (Anti-Semiticism)* มีบทบาทสำคัญขึ้นในสังคมเยอรมันเท่านั้น แต่ในเวลาต่อมายังทำให้ไฮน์ริช ฮิมม์เลอร์ (Heinrich Himmler)* ผู้นำอันดับสองของพรรคนาซีคิดโครงการคัดสรร "พ่อและแม่พันธุ์" เพื่อสร้างเด็กอารยันที่สมบูรณ์แบบเพื่อเป็น "ชนชั้นปกครอง" ขึ้น รวมทั้งจัดตั้งศูนย์ "น้ำพุแห่งชีวิต" (Lebensborn - Fountain of Life) เพื่อดูแลและเป็นที่พักของผู้หญิงอารยันที่เป็นแม่พันธุ์ด้วย
     แนวความคิดสำคัญอีกประการหนึ่งที่ไมน์คัมพฟ์เน้นคือเรื่องการโฆษณาชวนเชื่อ ฮิตเลอร์ศึกษารูปแบบและวิธีการโฆษณาปลุกระดมของพวกลัทธิมากซ์ ศาสนจักรนิกายคาทอลิก การโฆษณาชวนเชื่อของอังกฤษในสงครามโลกครั้งที่ ๑ การโฆษณาประชาสัมพันธ์ของสหรัฐอเมริกา ตลอดจนแนวคิดจิตวิทยาของซิกมุนด์ฟรอยด์ (Sigmund Freud) เขาอธิบายเทคนิคและกลวิธีการโฆษณาปลุกระดมเพื่อดึงอารมณ์และจิตใจของมวลชนให้คล้อยตามความคิดเห็นที่ชี้นำ รวมทั้งการให้มวลชนมีส่วนร่วมทางความคิดที่ชี้แนะด้วยการเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมหรือการแสดงที่มีสีสันตื่นเต้น มโหฬาร และงดงามตระการตาตลอดจนการชุมนุมเดินขบวนที่ยิ่งใหญ่ต่าง ๆ เป็นต้น ฮิตเลอร์กล่าวว่ากลุ่มคนมีลักษณะคล้ายผู้หญิงที่ต้องการให้มีคนควบคุม หัวใจของการโฆษณาชวนเชื่อคือการเข้าถึงจิตใจผู้ฟังด้วยการ "โกหกคำโต" (big lies) เพื่อให้เชื่อ เพราะมวลชนจะไม่สงสัยเรื่องการโกหกใหญ่ ๆ ยิ่งโกหกมากเท่าไหร่คนก็จะยิ่งเชื่อมากขึ้นเท่านั้นเนื่องจากเห็นว่าเป็นเรื่องที่ เป็นไปไม่ได้หากใครจะโกหกได้มากขนาดนั้นฮิตเลอร์สรุปว่า ความสำเร็จของการโฆษณาชวนเชื่อต้องอาศัยการย้ำแล้วย้ำอีกไม่จบสิ้น โดยเปลี่ยนแปลงรูปแบบของเรื่องเท่านั้นเพื่อให้เป็นที่สนใจของคนอยู่เสมอ แต่เรื่องนั้น ๆ ต้องย้ำต่อไปเรื่อย ๆ
     ในส่วนที่เกี่ยวกับชีวิตของฮิตเลอร์นั้น ไมน์คัมพฟ์ไม่ได้ให้ข้อมูลที่ถูกต้องเท่าใดนักเพราะหนังสือต้องการสร้างภาพลักษณ์ของฮิตเลอร์ในแง่ดีโดยสะท้อนเรื่องราวการต่อสู้ที่ มีจุดมุ่งหมายของเขาเพื่อสร้างความยิ่งใหญ่แก่เยอรมนี รายละเอียดหลายตอนในหนังสือไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เช่น บิดาเป็นคนดุและเข้มงวดทั้งมักบังคับและเฆี่ยนตีบุตรให้ปฏิบัติตามคำสั่งสอน แต่ฮิตเลอร์กลับให้ภาพบิดาเป็นคนที่เอาใจใส่ดูแลบุตรและคอยชี้แนะ แนวทางการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องเพื่อให้บุตรมีชีวิตที่ดีงามหรือในช่วงที่ฮิตเลอร์ใช้ชีวิตอย่างสุขสำราญในกรุงเวียนนาฮิตเลอร์กลับกล่าวว่าเขาทำงานอาบเหงื่อต่างน้ำด้วยการเป็นกรรมกร เป็นต้น นอกจากนี้ หนังสือยังเสนอเรื่องราวจิปาถะอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับฮิตเลอร์ เช่น งานอดิเรกปลูกต้นไม้และต่อยมวย
     ใน ค.ศ. ๑๙๓๓ ไมน์คัมพฟ์ฉบับแปลภาษาอังกฤษโดยราล์ฟ แมนไฮม์ (Ralph Manheim) พิมพ์เผยแพร่ที่สหรัฐอเมริกาโดยสำนักพิมพ์โฮตัน มิฟฟลิน แอนด์คัมพานี (Houghton Mifflin and Company) ณ เมืองบอสตัน ยอดจำหน่ายค่อนข้างดีแต่ในเวลา อันสั้นหนังสือก็เริ่มถูกวิพากษ์โจมตี ออทโท โทลิชุส (Otto Tolischus) นักประวัติศาสตร์ชาวเยอรมันสัญชาติอเมริกันเขียนสรุปวิจารณ์ไมน์คัมพฟ์ในหนังสือพิมพ์ New York Times ว่าเป็นหนังสือที่ผสมผสานระหว่างอัตชีวประวัติร้อยละ ๑๐ แนวความคิดทางการเมืองร้อยละ ๙๐ และอธิบายเทคนิคของการโฆษณาชวนเชื่อร้อยละ ๑๐๐ ในปีเดียวกันนั้นหนังสือพิมพ์ American Hebrew Jewish Tribune เรียกร้องให้งดจำหน่ายและเผยแพร่หนังสือโดยอ้างว่ามีเนื้อหาไม่เหมาะสมและมีอคติทางเชื้อชาติ ในปีรุ่งขึ้นองค์การคณะกรรมาธิการชาวยิวอเมริกัน (American Jewish Committee) ก็รณรงค์ให้กวาดล้างหนังสือ และกลุ่มปัญญาชนชาวยิวที่มีบทบาทในสังคมอเมริกันก็ทำจดหมายเปิดผนึกถึงประธานาธิบดีแฟรงกลิน ดี. รูสเวลต์ (Franklin D. Roosevelt) และสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ เรียกร้องให้ห้ามจำหน่ายและเผยแพร่ไมน์คัมพฟ์ต่อสาธารณชน แต่การเคลื่อนไหวทางความคิดดังกล่าวประสบความล้มเหลวในช่วงเวลาใกล้เคียงกันเชโกสโสวะเกียและโปแลนด์ก็ห้ามเผยแพร่ไมน์คัมพฟ์ด้วย
     แม้ไมน์คัมพฟ์จะเปิดเผยความคิดและเจตนารมณ์ของฮิตเลอร์ก่อนที่เขาจะมีบทบาทและอำนาจในเยอรมนี และก่อนที่เยอรมนีจะก่อชนวนของสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* แต่ผู้นำของประเทศยุโรปหลายประเทศก็ไม่ได้สนใจต่อหนังสือไมน์คัมพฟ์เท่าใดนักและพยายามเพิกเฉยต่อท่าทีแข็งกร้าวของฮิตเลอร์ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนานาประเทศพยายามสร้างบรรยากาศของความร่วมมือเพื่อรักษาสันติภาพในยุโรป และดำเนินนโยบายเอาใจอักษะประเทศ (Appeasement Policy)* เพื่อหลีกเลี่ยงข้อพิพาทและข้อขัดแย้งซึ่งอาจนำไปสู่สงคราม ขณะเดียวกันระบบกฎหมายลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศก็เปิดโอกาสให้ฮิตเลอร์ใช้เป็นข้ออ้างในการไม่อนุญาตให้แปลต้นฉบับที่สมบูรณ์ไมน์คัมพฟ์ฉบับแปลภาษายุโรปต่าง ๆ จึงเป็นฉบับย่อซึ่งเนื้อหาสำคัญหลายส่วนถูกตัดออก ใน ค.ศ. ๑๙๓๖ ไมน์คัมพฟ์ฉบับแปลภาษาฝรั่งเศสที่สมบูรณ์ถูกฮิตเลอร์เรียกร้องค่าเสียหายจากสำนักพิมพ์ด้วยข้ออ้างละเมิดกฎหมายลิขสิทธิ์และห้ามจัดพิมพ์เผยแพร่ ไมน์คัมพฟ์ฉบับแปลภาษาอังกฤษที่ฮิตเลอร์เห็นชอบจะตัดเนื้อหาเรื่องแนวความคิดการโจมตีฝรั่งเศสและนโยบายการรุกรานด้วยสงครามออกเพื่อปกปิดจุดมุ่งหมายที่สำคัญของฮิตเลอร์
     อย่างไรก็ตาม ในช่วงก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ เล็กน้อย เวียเชสลัฟ มีไฮโลวิช โมโลตอฟ (Vyacheslav Mikhaylovich Molotov)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหภาพโซเวียตได้เสนอให้มีการเพิ่มกำลังด้านยุทโธปกรณ์และงบประมาณทางทหาร โดยอ้างไมน์คัมพฟ์เป็นหลักฐานว่าเยอรมนีมีแผนจะขยายดินแดนด้วยรัฐบอลติก (Baltic States)* ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน สำนักพิมพ์ในสหรัฐอเมริกาก็จัดพิมพ์ฉบับแปลที่สมบูรณ์ของไมน์คัมพฟ์ออกเผยแพร่ ซึ่งได้กลายเป็นหนังสือขายดีในช่วงระหว่างสงครามด้วย นอกจากนี้ ในช่วงที่พรรคนาซีเรืองอำนาจ ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๔-๑๙๔๒ เนชันแนลไรค์เชิร์ช (National Reich Church) ซึ่งเป็นนิกายประจำชาติที่ พรรคนาซีจัดตั้งขึ้นและกำหนดให้ใช้ไมน์คัมพฟ์แทนคัมภีร์ไบเบิลในการประกอบพิธีทางศาสนกิจต่าง ๆ ทั้งสั่งห้ามการจัดพิมพ์เผยแพร่ไบเบิลและสื่อสิ่งพิมพ์ของโรงเรียนศาสนาในวันอาทิตย์ทั้งหมด โบสถ์และวิหารทุกแห่งต้องอยู่ใต้การควบคุมของรัฐและให้กำจัดเครื่องหมายกางเขนและเครื่องรางทางศาสนารวมทั้งไบเบิลออกจากโบสถ์ต่าง ๆ ทั่วประเทศทั้งให้ถือว่าไมน์คัมพฟ์เป็นหนังสือศักดิ์สิทธิ์ที่สุดทางศาสนา
     หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ลิขสิทธิ์ของไมน์คัมพฟ์เป็นของรัฐบาวาเรีย (Bavaria)* ซึ่งไม่เพียงมีสิทธิในการห้ามจัดพิมพ์และเผยแพร่ไมน์คัมพฟ์ทั่วทั้งเยอรมนีเท่านั้นแต่ยังรวมถึงทุกประเทศทั่วโลกด้วย ยกเว้นสหรัฐอเมริกากับสหราชอาณาจักร รัฐบาวาเรียจึงอ้างกฎหมายลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศห้ามการจัดพิมพ์เผยแพร่ไมน์คัมพฟ์ในประเทศต่าง ๆ หลายประเทศในยุโรปก็ให้ความร่วมมือด้วยเป็นอย่างดีเนื่องจากเห็นว่าไมน์คัมพฟ์มีเนื้อหาต่อต้านเชื้อชาติและปลุกเร้าขบวนการต่อต้านชาวยิวขณะเดียวกันมีการเรียกร้องให้ร้านขายหนังสือในอินเทอร์เนต เช่น Barnes and Nobles และ Amazon เป็นต้น หยุดจำหน่ายไมน์คัมพฟ์แก่ประชาชนในประเทศของตน (ไมน์คัมพฟ์ที่เผยแพร่ในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษคือฉบับแปลของราล์ฟ ไมน์ไฮม์ โดยได้ลิขสิทธิ์แปลจากฮิตเลอร์ใน ค.ศ. ๑๙๒๘) อย่างไรก็ตาม ในปลายทศวรรษ ๑๙๙๐ เป็นต้นมามีการเรียกร้องให้พิมพ์และเผยแพร่ไมน์คัมพฟ์ในประเทศต่าง ๆ ด้วยข้ออ้างสิทธิเสรีภาพการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นในระบอบประชาธิปไตยซึ่งรัฐบาลไม่มีอำนาจที่จะสกัดกั้น โดยพลเมืองมีสิทธิเสรีภาพที่จะรับรู้และแสดงออกด้านความคิดเห็น ไมน์คัมพฟ์จึงกลายเป็นประเด็นโต้แย้งทางความคิดในหลายประเทศเกี่ยวกับเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย ใน ค.ศ. ๑๙๙๙ ไมน์คัมพฟ์ฉบับภาษาอาหรับซึ่งเคยเป็นหนังสือต้องห้ามจัดก็พิมพ์เผยแพร่เป็นครั้งแรกในเขตเยรูซาเลมตะวันออกและในพื้นที่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลปาเลสไตน์ และเป็นหนังสือขายดีอันดับ ๖ ในช่วงเวลาอันสั้น ใน ค.ศ. ๒๐๐๕ กรรมสิทธิ์หนังสือไมน์คัมพฟ์ที่รัฐบาวาเรียครองอยู่จะสิ้นสุดลงและนำไปสู่การเคลื่อนไหวทางความคิดให้มีการทบทวน เรื่องการพิมพ์เผยแพร่ไมน์คัมพฟ์ในเยอรมนี
     ไมน์คัมพฟ์ได้ชื่อว่าเป็นหนังสือที่ถูกห้ามจัดพิมพ์บ่อยครั้งมากที่สุด และเป็นหนังสือสำคัญที่เขย่าโลก เล่มหนึ่ง นอร์มัน คัสซิน (Norman Cousin) นักวิจารณ์ชาวอังกฤษกล่าวว่าไมน์คัมพฟ์เป็นหนังสือที่มีอิทธิพลทางสังคมมากที่สุดในคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ เพราะทุก ๆ คำในหนังสือหมายถึงชีวิตที่ดับสูญ ๑๒๕ คน และทุก ๆ หน้าจำนวน ๔,๗๐๐ คน และทุก ๆ บทมีผู้คนเสียชีวิตกว่า ๑,๒๐๐,๐๐๐ คน พลังและอำนาจของไมน์คัมพฟ์อยู่ที่การเป็นหนังสือคัมภีร์ทางการเมืองของชาวเยอรมันและเป็นคู่มือของแนวนโยบายแห่งจักรวรรดิไรค์ที่ ๓ ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๓-๑๙๔๕.


The Protocols เป็นเอกสารปลอมที่ กล่าวถึงแผนการยึดครองโลกของชาวยิวซึ่งชื่อเอกสารเดิมคือ Biarritz แฮร์มันน์ เกิดเชอ (Hermann Goedsche) ชาวเยอรมันที่ ต่อต้านยิว และเป็นจารชนให้กับหน่วยตำรวจลับปรัสเซียปลอมเอกสารดังกล่าวขึ้นใน ค.ศ. ๑๘๖๘ เพื่อใช้ กล่าวหานักปฏิรูปการเมืองคนสำคัญว่าคบคิดวางแผนโค่นอำนาจรัฐบาล เนื้อหาของเอกสารบทหนึ่งชื่อ The Jewish Cemetery in Prague and the Council of Representatives of Twelve Tribes of Israel กล่าวว่าทุกๆ ๑๐๐ ปีปราชญ์อาวุโสชาวยิวจะจัดประชุมลับกันตอน เที่ ยงคืนเพื่อคบคิดแผนยึดครองโลก เอกสารดังกล่าวถูกถ่ายทอดเป็นภาษารัสเซียใน ค.ศ. ๑๘๗๒ ต่อมา เซียร์ก นีลุส (Serge Nilus) เจ้าหน้าที่ ตำรวจลับในมอสโกได้บรรณาธิกรต้นฉบับเหลือเพียง ๒๔ บท โดยใช้ชื่อว่า The Protocols of the Elders of Zion และเผยแพร่ใน ค.ศ. ๑๘๙๑ ทั้งอ้างว่า ต้นฉบับถูกขโมยมาจากศูนย์บัญชาการของขบวนการไซออนที่ ฝรั่งเศส หน่วยตำรวจลับรัสเซีย (Okhranke) ใช้หนังสือเป็นหลักฐานกวาดล้างฝ่ายปฏิรูปเสรีนิยมและฝ่ายปฏิวัติโดยกล่าวหาว่ามีพวกยิวอยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวทางการเมือง หลังสงคราม โลกครั้งที่ ๑ มีการพิสูจน์ว่า Protocols เป็นเอกสารปลอม แต่หนังสือก็ถูกถ่ายทอดเป็นภาษายุโรปต่าง ๆ ฮิตเลอร์จึงอ้างการวิพากษ์ โจมตีเอกสารของพวกยิวว่าทำให้เอกสารน่าเชื่อถือมากกว่าจะเป็นการปลอมแปลง Protocols คือการอธิบายความหายนะของเยอรมันปัญหา เงินเฟ้อการว่างงาน และอื่นๆ Protocols จึงเป็นการอธิบายที่ ชอบธรรมของการทำสงครามกำจัดพวกยิว

คำตั้ง
Mein Kampf
คำเทียบ
ไมน์คัมพฟ์
คำสำคัญ
- ลูเดนดอร์ฟ, เอริช ฟอน
- เมาริช, เอมิล
- ลัทธินาซี
- สาธารณรัฐไวมาร์
- เฮสส์, รูดอล์ฟ
- โกบีโน, โชแซฟ กงต์ เดอ
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- เอแฮร์, ฟรันซ์
- อัมนัน, มักซ์
- แบร์ชเทสกาเดิน, เมือง
- การผนวกออสเตรียเข้ากับเยอรมนี
- ไรค์ที่ ๓, จักรวรรดิ
- ดาร์วิน, ชาลส์
- ลือเกอร์, คาร์ล
- ไทรท์ชเคอ, ไฮน์ริช
- วากเนอร์, ริชาร์ด
- เกิดเชอ, แฮร์มันน์
- นีลุส, เซียร์ก
- เฮาส์โฮเฟอร์, คาร์ล
- แมนไฮม์, ราล์ฟ
- พรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมัน
- ลัทธิมากซ์
- รัฐทิวทอนิกของชาติเยอรมัน
- การแก้ปัญหาชาวยิวครั้งสุดท้าย
- ฟรอยด์, ซิกมุนด์
- ขบวนการต่อต้านชาวยิว
- รัฐบอลติก
- รูสเวลต์, แฟรงกลิน ดี.
- คัสซิน, นอร์มัน
- บาวาเรีย, รัฐ
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
- โมโลตอฟ, เวียเชสลัฟ มีไฮโลวิช
- กบฏโรงเบียร์
- กบฏที่เมืองมิวนิก
- ไมน์คัมพฟ์
- ลันด์สแบร์กอัมเลช, คุก
- ฟือเรอร์
- พรรคสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือนาซี
- ฮิมม์เลอร์, ไฮน์ริช
- ศูนย์น้ำพุแห่งชีวิต
- นโยบายเอาใจอักษะประเทศ
- โทลิชุส, ออทโท
- การขยายดินแดนไปทางตะวันออก
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
-
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
-
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 5.M 395-576.pdf